สิ่งสำคัญของวัด
พระอุโบสถ
ตั้งอยู่ทิศใต้ถนนที่ผ่ากลางวัด เป็นทรงขอมคล้ายนครวัด แต่เป็นลวดลายปูนปั้นผินหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งมีแน่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นทางสัญจรสำคัญครั้งโบราณเป็นหน้าวัด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงออกแบบ ด้านหน้ามีประตู ๓ ช่อง มีห้องเป็น ๓ ตอน ห้องหน้าเป็นระเบียง ห้องกลางเป็นห้องพิธี มีพระสัมพุทธพรรณีเป็นพระประธาน มีเศวตฉัตร ๙ ชั้น (ร. ๕ หล่อพระราชทาน) หลังพระประธานเป็นซุ้มคูหา เบื้องบนมีภาพพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเมฆกำลังตอบปัญหาของพระสารีบุตรและพระอินทร์เฝ้า ที่ใกล้พระประธานมีรูปศากยกษัตริย์พระประยูรญาติมาเฝ้าอยู่เบื้องหลัง ซุ้มคูหาเป็นตราประจำ ๕ รัชกาล (รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕) บนเพดานเป็นลวดลายมีดาวเป็นที่เสียบหลอดไฟฟ้า ผาผนังทั้ง ๓ ด้าน มีภาพเขียนเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เขียนโดยนายช่างชาวอิตาเลียนชั้นศาสตราจารย์ชื่อ “ริโคลี” บานประตูหน้าต่างทุกบานลายรดน้ำ ทรงข้าวบิณฑ์ ด้านในเป็นภาพเทวรูปทุกช่อง
ศาลาการเปรียญ
ตั้งอยู่หน้าวัด เป็นศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังมีความสวยงาม จุคนได้ประมาณหนึ่งพันคน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้สร้างเลียนแบบศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
พระพุทธไสยา
ประดิษฐานอยู่ ณ ห้องประชุมตึกไชยยันต์ โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส มีลักษณะเหมือนสามัญมนุษย์ที่งามที่สุด ที่ฐานพระพุทธรูปบรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศราราชหฤทัย สร้างในรัชกาลที่ ๖ โดยออกแบบสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
พระสัมพุทธวัฒโนภาส
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น และเป็นพระประธานองค์เดิมในพระอุโบสถ ประดิษฐานอยู่ในห้องหลังสุดของพระอุโบสถ ลักษณะพระพุทธรูปเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก ๒ เมตร ลงรักปิดทองสวยงาม ด้านหน้ามีพระอัครสาวกซ้าย-ขวา ประดิษฐานอยู่ด้วย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชักว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด
พระสัมพุทธพรรณี
เป็นพระประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ องค์เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับองค์นี้จำลองขึ้นมาใหม่ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๕๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ (ร.ศ. ๑๒๗) เป็นวันมหาปวารณา และตรงกับวันประสูติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระนิรันตราย หรือพระพุทธนิรันตราย
กำนันอินและบุตรชายได้ขุดพบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก น้ำหนัก ๘ ตำลึง จึงได้นำไปให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า “พระนิรันตราย”
นอกจากนี้ยังทรงถือว่าเป็นวัตถุมงคลควรแก่การตั้งในพระราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นใหม่ โดยไม่มีซุ้มเรือนแก้วมาครอบองค์หนึ่งเพื่อตั้งเป็นพระประธาน ต่อมาจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระนิรันตรายแบบมีซุ้มเรือนแก้วขึ้น ๑๘ องค์ แล้วพระราชทานไปตามวัดธรรมยุต ๑๘ วัด เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นที่มาของคณะสงฆ์ธรรมยุต ในการพระราชทานครั้งนี้ วัดราชาธิวาสวิหาร เป็นหนึ่งใน ๑๘ วัดที่ได้รับพระพุทธรูป “พระนิรันตราย” ซึ่งท่านประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหน้าพระสัมพุทธพรรณี (ห้องกลาง) ตราบถึงปัจจุบัน
พระพุทธรูปอู่ทอง
เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ขนาดขององค์พระสูงประมาณ ๒.๕ เมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถด้านหน้า ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก (หน้าวัด) ในลักษณะทรงห้ามภยันตราย มิให้มากร้ำกรายวัดได้
พระพุทธรูปศิลาและมหายาน
องค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทรงนำมาจากประเทศอินโดนีเซีย มี ๔ องค์ ประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มพระเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ พระพุทธรูปชุดนี้มี ๕ องค์ เดิมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ทรงสร้างเจดีย์ที่วัดราชาธิวาสวิหารเสร็จแล้ว ก็ให้ย้ายพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์มาไว้ที่ซุ้มพระเจดีย์ตามที่ปรากฏ ส่วนอีกองค์หนึ่งย้ายไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร
พระพุทธรูปเชียงแสน
คือพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่ บนศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชทานแก่วัดราชาธิวาสวิหาร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชา
พระสันติภาพ
ประดิษฐานอยู่ที่แท่นบูชาบนศาลาการเปรียญหน้าพระเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๐ เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปหล่อขึ้นที่วัดราชาธิวาสวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ สร้างเป็นอนุสรณ์ที่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลง เพื่อแสดงถึงสันติภาพกลับมาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง
พระพุทธรูปสุโขทัย
เป็นพระนั่งปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่บนแท่นบูชาที่หอธรรมสงเคราะห์ (หอสวดมนต์) ได้รับพระราชทานมาไว้ที่วัดราชาธิวาสวิหาร สำหรับบูชาสักการะของพุทธบริษัทวัดนี้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
พระพุทธรูปลพบุรี (หลวงพ่อนาค)
เป็นพระศิลาปางนาคปรก ศิลปะลพบุรี พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตตมเถระ ป.ธ. ๕) ได้อัญเชิญมาจากจังหวัดลพบุรี ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ของเดิมชำรุด แต่ได้บูรณะขึ้นใหม่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พ.ต.อ. (พิเศษ) คุ้ม วีรสุนทร ผู้สร้างศาลาถวายได้ย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ในศาลา พร้อมกับซ่อมองค์พระที่ชำรุดอยู่ให้สมบูรณ์
พระพุทธรูปในวิหารพระอัยยิกา
เป็นพระนั่ง ลักษณะรูปแบบคล้ายพระพุทธรูปแบบคันธารราฐ สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นพระพุทธรูปแทนสมเด็จพระปิยมาวดี พระอัยยิกาในพระองค์ องค์พระขนาดเท่าคนจริง และประดิษฐานอยู่ในวิหารพระอัยยิกา (คณะใต้)
พระพุทธสิหิงค์จำลอง
ประดิษฐานอยู่ในศาลาสวัสดิวัตน์ (คณะบน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลในปัจจุบัน เสด็จเททองเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๑๔
สถานที่ตั้ง
เลขที่ ๓ ถนนสามเสน ๙ แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
เว็บไซต์
www.watraja.org
ค่าธรรมเนียม
การเดินทางไปยังวัดสุทัศเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
การเดินทาง รถโดยสารประจำทาง สาย ๓, ๑๖, ๑๙, ๓๐, ๓๒, ๓๓, ๔๙, ๖๔, ๖๕ ปอ.สาย ๕๐๕, ๕๐๖