สิ่งสำคัญของวัด
สำเภา เจดีย์
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า พระอุโบสถวัดคอกกระบือทรุดโทรมลงมาก จึงทรงสร้างเจดีย์มีฐานเป็นสำเภาเท่าขนาดเรือสำเภาจริง ส่วนยาวของสำเภาตลอดลำ วัดแต่หงอนข้างบนถึงท้ายบาหลีได้ ๒๑ วา ๒ ศอก ส่วนยาวตลอดลำ วัดจากพื้นดินได้ ๑๘ วา ๑ ศอกเศษ ส่วนกว้างตอนกลางลำ ๔ วา ๓ ศอก ส่วนสูงตอน กลาง ลำ ๒ วา ๓ ศอก มีพระเจดีย์อยู่ในสำเภา ๒ องค์ องค์ใหญ่มีฐานย่อมุมไม้ ๒๕ ฐานล่างกว้าง ๓ วา ๑ ศอกเศษ สูงจากพื้นบนถึงยอด ๘ วา องค์เล็กมีฐานย่อมุมไม้ ๑๖ ฐานล่างกว้าง ๗ ศอกเศษ สูงจากพื้นบนถึงยอด ๖ วาถ้วน ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย โดยมีพระราชดำรัสว่า “คนภายหน้าอยากจะเห็นเรือสำเภาเป็นอย่างไรจะได้มาดู” และทรงพระราชทานนามวัดใหม่เป็น “วัดยานนาวาราม”
เจดีย์รูปเรือสำเภาสื่อสารความหมายหมาย ๒ นัย
สาระที่ ๑ เจดีย์รูปเรือสำเภา หมายถึง อนุสรณ์แห่งการเจริญสัมพันธ์ไมตรี ของการค้าขายระหว่างประเทศไทย กับไพรัชประเทศ โดยการขนส่งทางแม่น้ำ ด้วยพาหนะคือเรือสำเภา แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของการค้า ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่พระองค์ได้รับการขนานพระราชทินนาม ว่า พระบิดาแห่งการค้าไทย
สาระที่ ๒ เจดีย์รูปเรือสำเภา หมายถึง สัญลักษณ์ทางปริศนาธรรม ที่แสดงความหมายในทางปรัชญาของพระพุทธศาสนา เรื่อง พาหนะในการขนส่ง เพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน โดยคติความเชื่อของพุทธศาสนา เรื่องความเชื่อของฝั่งแห่งโลกิยธรรม และโลกุตตรธรรม ว่า เรือ เปรียบเสมือนหนึ่งธรรมะที่จะโอบอุ้มสรรพสัตว์ให้พ้นแม่น้ำแห่งความทุกข์ หรือโอฆะสงสาร เพื่อข้ามกระแสธารเข้าสู่ฝั่งพระนิพพาน
พระประธานของวัด
พระประธานในพระอุโบสถมี ๔ องค์ เป็นพระปั้นทั้ง ๔ องค์ ซึ่งมีขนาดต่างกันดังนี้
องค์ที่ ๑ เป็นองค์ใหญ่ปางมารวิชัยนั่งสมาธิ ส่วนกว้างวัดหน้าตักได้ ๓ ศอก ๘ นิ้ว สูง ๑ วา ๑๐ นิ้ว
องค์ที่ ๒ เป็นปางมารวิชัย (องค์ขวา) วัดหน้าตักได้ ๑ ศอก ๙ นิ้ว สูง ๑ ศอก ๑๕ นิ้ว
องค์ที่ ๓ เป็นปางมารวิชัย (องค์ซ้าย) วัดหน้าตักได้ ๑ ศอก ๑๑ นิ้ว สูง ๑ ศอก ๑๖ นิ้ว
องค์ที่ ๔ เป็นปางมารวิชัยนั่งสมาธิ ส่วนกว้างวัดหน้าตักได้ ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว สูง ๓ ศอก ๑๐ นิ้ว (สภาพการตั้งพระประธานปี ๒๕๔๙)
พระอุโบสถ
มีบันทึกของนักโบราณคดี บรรยายกล่าวถึงความงามและคุณค่าทางศิลปะในพระอุโบสถวัดยานนาวาว่า “ตัวพระอุโบสถถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมชั้นเยี่ยมในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งหน้าบันฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ทำเป็นลายเทพพนม ประดับด้วยลวดลายสัตว์หิมพานต์ ที่ซุ้มประตูพระอุโบสถทำเป็นตัวนาค ประดับกระจก ส่วนบานประตูและหน้าต่างเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๓ เขียนลายรดน้ำปิดทองที่งดงามมาก โดยที่บานประตูด้านนอกเขียนเป็นรูปเสี้ยวกางเหยียบสิงห์ ด้านในทำเป็นรูปกระทงใหญ่ตามแบบพระราชพิธีในรัชกาลที่ ๓ ส่วนบานหน้าต่างด้านนอกเป็นเรื่องทศชาติพร้อมคำอธิบาย บานหน้าต่างด้านในเขียนเป็นรูปโถยาคูที่ใช้เลี้ยงพระในงานพระราชพิธีสารท
อาคารมหาเจษฎาบดินทร์
อาคารเอนกประสงค์ใช้สอยประโยชน์ร่วมในตัวอาคาร โดยมีสัญลักษณ์และสัณฐานเป็นอาคารทรงไทยประดับยอดปราสาท ๕ ยอด โครงอาคารเสริมเหล็กก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องกามู ๓ สีทั้งหลัง กว้าง ๓๒ เมตร ยาว ๖๖ เมตร เป็นอาคารสูง ๓ ชั้นครึ่ง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และรับบริจาคโดยผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๐
หอพระไตรปิฎก
เป็นอาคาร ๓ ชั้น มีสัญลักษณ์และสัณฐานเป็นอาคารทรงไทยประดับยอดปราสาท ๓ ยอด โครงอาคารเสริมเหล็กก่ออิฐถือปูน ใช้เก็บรวบรวมตู้พระไตรปิฏก ใช้พื้นที่ในชั้นที่ ๑ จัดเป็นห้องสมุดวัดยานนาวา ให้บริการสืบค้นข้อมูลจากพระไตรปิฎก คัมภีร์ที่สำคัญของพระพุทธศาสนา หนังสือธรรมะ และหมวดหนังสือทั่วไป เป็นแหล่งเรียนรู้ภายในวัดสำหรับพระภิกษุสามเณร และประชาชน
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีต่อประเทศไทย พสกนิกรชาวไทย และวัดยานนาวา คณะสงฆ์วัดยานนาวาจึงจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นบริเวณหน้าเจดีย์รูปเรือสำเภา พร้อมปรับปรุงภูมิสถาปัตย์โดยรอบทั้งบริเวณ
สถานที่ตั้ง
เลขที่ ๔๐ ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๒๐
โทร ๐-๒๖๗๒-๓๒๑๖
แฟกส์ ๐-๒๖๗๒-๓๒๐๖
เว็บไซต์
www.watyan.com
ค่าธรรมเนียม
การเดินทางไปยังวัดยานนาวา
การเดินทาง รถโดยสารประจำทาง สาย ๑ (ถนนตก - ท่าเตียน), ๑๕ (เดอะมอลล์ท่าพระ – บางลำพู), ๗๕ (วัดพุทธบูชา – หัวลำโพง), ๗๗ (อู่ใต้ทางด่วนสาธุ - หมอชิตใหม่)
ท่าเรือ เรือด่วนเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าเรือสาทร
รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน